ไม้สำหรับงานก่อสร้าง

ไม้ (Wood) ถือเป็นหนึ่งวัสดุหลัก ที่ใช้ในงานก่อสร้าง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม้ ถือเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในงานก่อสร้างเลยก็ว่าได้ เพราะไม้ เป็นวัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติ ให้ความแข็งแรง ทนทาน เราจะสังเกตเห็นได้ว่า บ้านเก่าแก่ส่วนใหญ่ทำจากไม้ ให้อารมณ์เก่าแก่ อบอุ่น เป็นเอกลักษณ และมีความสวยงาม ปัจจุบัน ไม้ ยังเป็นที่นิยมนำมาตกแต่ง ได้หลากหลายสไตล์อีกด้วย

แล้วรู้หรือไม่ว่า ไม้สำหรับงานก่อสร้าง มีกี่แบบ และแต่ละแบบเหมาะกับงานสร้างแบบไหน ? บทความนี้ จะพาคุณไปรู้จัก ว่าไม้สำหรับงานก่อสร้าง มีกี่แบบ ใช้งานยังไง เหมาะกับงานแบบไหน เพราะถ้าเดินเข้าไปในร้านไม้ ก็มีไม้หลากหลายประเภท จนเลือกไม่ถูก เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไม้สำหรับงานก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

ไม้เนื้อแข็ง

ไม้เนื้อแข็ง ลักษณะของเนื้อไม้ จะเป็นสีเข้มไปจนถึงสีดำ ลวดลายละเอียด เนื้อไม้มีความแน่น แข็งแรงทนทานได้ในระดับที่ดีมาก เหมาะกับงานที่ใช้ภายนอก เพราะไม้เนื้อแข็งนี้ ทนทานต่อ อากาศ แดด ลม และฝนได้ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าไม้ชนิดอื่นๆ

ข้อควรระวัง สำหรับ ไม้เนื้อแข็ง คือ ความชื้น และรับความร้อนได้ง่าย ทำให้ไม้เนื้อแข็งมีโอกาสบิดตัว ไม้เนื้อแข็ง ที่นิยมใช้กันในงานก่อสร้าง

1. ไม้เต็ง เป็นไม้ขนาดใหญ่ มีความแข็งแรงดีมากและมีความเหนียว เนื้อไม้มีความสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับงานที่ต้องรับน้ำหนัก ทนต่อสภาพอากาศ นิยมใช้กับงานที่ต้องการเสริมความแข็งแรง เช่น เป็นตัวสร้างบ้านเรือนที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ อย่างเช่น ตง คาน วงกบประตู หน้าต่างกระดานพื้น ไม้โครงหลังคา รวมถึง เก้าอี้นวม ชิงช้า สะพาน หมอนรางรถไฟ อีกด้วย

2. ไม้รัง เป็นต้นไม้ลำต้นขนาดกลาง ไปจนถึงใหญ่ เนื้อไม้จะมีความหยาบ ไม่สม่ำเสมอ มีเสี้ยนเยอะ มีสีน้ำตาลอมเหลือง จัดอยู่ในประเภท ไม้ที่มีน้ำหนักมาก และความแข็งแรงทนทานสูง ทำให้การ เลื่อย ไสกบ ยาก ไม่เหมาะกับการตกแต่ง เหมาะสำหรับ ทำเสา โครงสร้างอาคาร หมอนรางรถไฟ หรือสิ่งที่ต้องการความแข็งแรง ทนทาน เป็นต้น

3. ไม้แดง เนื้อไม้จะมีออกแดงๆ ตามชื่อ มีความแข็งแรงทนทานต่อความร้อนได้ในระดับที่ดี ไม้แดงจะสามารถเลื่อยไส ตกแต่งได้ง่าย ขัดเงาได้ดี น้ำหนักกลางๆ ไม่หนักเหมือนไม้เต็งและไม้รัง งานก่อสร้างนิยมนำมาใช้กับ พื้น วงกบ ประตูหน้าต่าง ทำเรือ ข้อดีของไม้แดงนี้ ปลวกจะไม่ค่อยมารบกวน

4. ไม้ตะเคียนทอง หลายคนคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว มีลักษณะเป็นต้นไม้สูงใหญ่ เนื้อไม้มีมีความละเอียดปานกลาง สีเหลืองหม่นๆ จะเห็นว่าเนื้อไม้ มีเส้นสีเทาขาว คือท่อน้ำมันของตัวไม้นั่นเอง เมื่อนำไปตกแต่ง จะมีความสวยงาม ขึ้นเงาได้ดีมาก

5. ไม้ตะแบก เป็นไม้ที่มีสีน้ำตาลอมเทา เนื้อมัน แข็ง เหนียว มีความละเอียดปานลาง ทนทานแข็งแรงดีมาก เหมาะกับทำเครื่องเรือน ของสวยงาม หรือบางคนก็นิยมนำมาทำเป็นเสา คาน สวยงามมาก

6. ไม้มะค่าแต้ มีลักษณะเนื้อค่อนข้างหยาบ แต่สม่ำเสมอ สีของไม้จะเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ เสี้ยนจะมีสีเข้มกว่าตัวไม้ มีความแข็งแรงทนทามาก เลื่อยไสตกแต่งได้ยาก เหมาะกับงานที่ต้องใช้ความแข็งแรงทนทาน เช่น หมอนรถไฟ เครื่องเกวียน เครื่องไถนา รวมไปถึงเครื่องเรือน

7. ไม้ประดู่ เป็นต้นไม้สูงใหญ่ เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง สีแดงอมเหลือง บ้างก็จะมีเนื้อสีอิฐแก่ มีเสี้ยนเข้มกว่าตัวเนื้อไม้ เสี้ยนมีลวดลายที่สวยงาม แข็งแรงทนทาน เหมาะกับการทำเกวียน เครื่องเรือนสวยงาม ไม้ประดู่แดง จะมีความแข็งแรงทนทานคล้ายไม้แดง แต่จะมีความยืดหดน้อยกว่า

ไม้เนื้อแข็งปานกลาง

ไม้เนื้อแข็งปานกลาง มีลักษณะของเนื้อไม้ จะเป็นสีเข้มๆออกไปทางแดง มีความแข็งแรงทนทาน แต่ยังไม่เท่าไม้เนื้อแข็ง แต่มีความทนทานต่ออากาศได้เทียบเท่าไม้เนื้อแข็ง ส่วนใหญ่เหมาะกับนำไปทำ เฟอร์นิเจอร์ เพราะด้วยเนื้อไม้มีความสวยงาม เหมาะกับงานที่ต้องใช้ความละเอียด ประณีต สวยงาม ที่นิยมใช้กันในงานก่อสร้าง

1. ไม้สัก ถือเป็นไม้ที่มีคุณภาพมากที่สุด เพราะมีความแข็งแรง ทนทาน ต่ออากาศ ปลวก มอด ไม่ค่อยเข้ามารบกวน เนื่องจากลักษณะของไม้เป็นเนื้อหยาบไม่สม่ำเสมอ หดตัวน้อย ไม่ผุง่าย ไม่ค่อยบิดตัว มีกลิ่นหอม มีน้ำมันในตัว เมื่อเลื่อยออก จะเห็นลายชัดเจน สามารถ เลื่อย ผ่า ตกแต่งชักเงาได้ง่าย เหมาะกับงานที่ต้องการความประณีต ความสวยงาม เครื่องเรือนต่างๆ

2. ไม้กระบาก หรือ ไม้กะบาก ลักษณะโดยรวมมีสีนวลเหลืองถึงน้ำตาล เนื้อหยาบ เส้นตรง มีความสม่ำเสมอ เนื้อแข็ง เหนียว โดนน้ำแล้วไม่บิดงอ เลื่อยไสตกแต่งได้ไม่ยาก แต่ไม้ชนิดนี้ เนื้อจะออกเป็นทรายๆ ทำให้กัดคมเครื่องมือ สามารถใช้ทำแบบหล่อคอนกรีตได้ดี

3. ไม้นนทรีย์ ไม้ชนิดนี้ เหมาะกับการใช้ทำพื้น เพดาน ฝา รวมถึงที่ใส่ของต่างๆ เนื้อไม้มีลักษณะสีชมพูอ่อนถึงน้ำตาลแกมชมพู มีความเลื่อม เส้นตรง เนื้อมีความหยาบปานกลาง สามารถเลื่อยตกแต่งได้ง่าย

ไม้เนื้ออ่อน

ไม้เนื้ออ่อน มีลักษณะของเนื้อไม้ สีจางอ่อนๆ ตัวเนื้อไม้จะสามารถเลื่อย ตกแต่งได้ง่าย น้ำหนักเบา ไม้ชนิดนี้จะไม่นิยมาทำโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ ตัวอย่างของไม้เนื้ออ่อน ที่นิยมใช้กันในงานก่อสร้าง คือ

1. ไม้ยาง เป็นไม้เนื้ออ่อน ตัวไม้มีความหยาบ สีน้ำตาลปนแดง ยืดหดง่าย เลื่อยผ่าง่าย เนื้อไม้บิดงอปรับสภาพตามอากาศ เหมาะกับใช้งานที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ไม่ทนแดดทนฝนเท่าไหร่ มีราคาถูก

2. ไม้กระท้อน เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ เนื้อค่อนข้างหยาบ มีความแข็งแรงปานกลาง เหมาะกับใช้ในร่ม เนื้อไม้มีการหดตัวได้ง่าย เหมาะกับทำพื้น เพดาน เป็นต้น

3. ไม้ต้นมะพร้าว เนื้อมีความหนาแน่นสูง โดยเฉพาะส่วนริม จะมีความหนาแน่นเป็นพิเศษ สามารถใช้เป็นโครงสร้างรองได้

การเลือกไม้ให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภทนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเลือกประเภทให้ถูกต้อง กับตัวเนื้องาน ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลระยะยาวเลย หากเราเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ และเหมาะสม งานของเราก็จะออกมาดี ไม่ต้องแก้ไขในภายหลัง เพราะไม้แต่ละประเภท ต่างก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป และแบ่งประเภทกันอย่างชัดเจน ว่าแต่ละประเภท เหมาะกับงานแบบไหน

สอบถามเพิ่มเติม โทร.